ครูพี่เอ เปิดสัมมนา “ความท้าทายการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption: ทิศทางและนโยบายใหม่”
วันที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “ความท้าทายการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption: ทิศทางและนโยบายใหม่” และงานบริหารสัมพันธ์ ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุมคุรุร่มสัก 2 อาคารคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
รมช.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทย ครอบคลุมการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ทั้งยังมีความหลากหลาย ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งที่จัดโดยภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความซับซ้อนเชื่อมโยงกัน แต่การจัดการศึกษาในทุกระดับมีเป้าหมายเดียวกันคือ การให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่พลเมืองทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาบนความหลากหลาย ที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทว่าอุปสรรคของการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง คือ ความห่างไกล การคมนาคม ความเจริญระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท โรงเรียนในชนบทส่วนใหญ่มักขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต รวมทั้งอุปกรณ์การศึกษา และความพร้อมของครูผู้สอน เป็นต้น
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การจัดการสอนที่มุ่งเน้นแบบท่องจำ มากกว่าการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะการแก้ปัญหา เป็นวิธีการสอนที่จำกัดความสามารถของผู้เรียน ในการพัฒนาการคิดอย่างอิสระ การคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นยิ่ง สำหรับการเป็นพลโลกในอนาคต
ความท้าทายทั้งสองเรื่องนี้ นำมาสู่การกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียมด้านการศึกษา มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในชนบท จัดหาสื่อการเรียนการสอนและทรัพยากรที่จำเป็น รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ครูที่มีความสามารถไปสอนในพื้นที่ห่างไกล เช่น ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ส่วนแนวทางการเรียนรู้ ได้ปรับรูปแบบการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรมที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียนในการคิดได้อย่างอิสระ
ในขณะเดียวกัน เราต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อสามารถรับมือกับยุคของ Digital Disruption เพื่อสร้างผู้เรียนที่มีความพร้อมไปสู่สังคมอนาคตได้อย่างมั่นคง สอดรับกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,312โรงเรียน ในกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 เพื่อใช้ในกิจกรรม “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการลดภาระนักเรียนครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายหลังจากที่โครงการ “การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา” ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ของกระทรวงศึกษาธิการ รองรับโรงเรียนคุณภาพในสังกัด สพฐ. จำนวน 1,808 โรงเรียน
และระยะที่ 2 ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี จะมีการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำ ดิจิทัลคอนเทนต์ การเช่าใช้ระบบคลาวด์สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียน มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร ด้วยการเช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ Tablet, Notebook หรือ Chromebook จำนวน 607,655 เครื่อง พร้อมทั้งพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เท่าทันโลกแห่งความ ผันผวน (BANI World) จะสามารถทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวก และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้เรียนและครู สามารถสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพและจัดการเนื้อหาการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างแม่นยำ มีเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบอีบุ๊ก e-Book ไลฟ์สด เกม วิดีโอแบบทดสอบ สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างครบถ้วน และสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต
การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นการยกระดับการศึกษาของไทยครั้งใหญ่ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัยโดยปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” ที่ทำหน้าที่กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ส่วนผู้เรียนก็ได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้สามารถ “เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา” ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทำให้ผู้เรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
15/6/2567
[Sassy_Social_Share]