คุณหญิงกัลยา บรรยายพิเศษ “Coding for R-Chee wa” ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สอศ. ครั้งที่ 1/2566
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เรื่อง “Coding for R-Chee wa” ณ The Imperial Hotel and Convention Centre จังหวัดพิษณุโลก
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและ เสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนการสอน ภาษาคอมพิวเตอร์ (CODING) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เป็นการเรียนรู้เพื่อเน้นกระบวนการคิดของ นักเรียน เพื่อสร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกร โดยเฉพาะในปัจจุบันระบบการให้บริการการศึกษาทั่วโลก ให้ความสําคัญต่อการสอนเรื่องเทคโนโลยีในโรงเรียนเป็นอย่างมาก CODING เราจึงต้องปฏิรูปการศึกษาไปยังผู้เรียนโดยตรง เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการคิด ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน เป็นต้น
หลาย ๆ ท่านอาจเห็นว่า CODING เป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ หรือการเข้ารหัสต่าง ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ๆ CODING เป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถประยุกต์จากชีวิตประจำวันของนักเรียน หรือ วิถีชุมชนมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ และ CODING สามารถเรียนรู้ได้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกวัย (CODING for all, all for CODING) ดังนั้น ในการปฏิรูปการศึกษาของไทยทั้งระบบ ดิฉันต้องการเห็น การศึกษาไทยนำ CODING มาประยุกต์ใช้กับทุกสาระวิชา ไม่ว่าจะเรียน Art, จะเรียน Science, จะเรียน Math, เรียน Engineer หรือเรียนดนตรีก็ตาม ก่อให้เกิดทักษะที่จำเป็น 6 ทักษะ คือ ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงคำนวณ และทักษะการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการพัฒนากำลังคน และเป็นพื้นฐานทักษะในการต่อยอดไปสู่ชีวิตประจำวัน เป็นทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 เรียนอะไรก็ตามเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองแล้ว จะต้องเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนด้วย เช่น CODING for กะปิคลองโคน, CODING for ไข่เค็ม, CODING for อาหาร, CODING for ท่องเที่ยว, CODING for Everything เพราะฉะนั้นเรียน CODING แล้วเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองมีความสามารถ ในการแก้ปัญหาแล้วยังต้องเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งรอบ ๆ โรงเรียนมีชุมชน มีวิถีชีวิต มีต้นทุน ทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เชื่อมร้อยบริบทพื้นถิ่น ค้นหาของดี ที่มีอยู่ในชุมชนรอบ ๆ โรงเรียน
ในปัจจุบัน CODING เป็นมากกว่านโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีคณะกรรมการ CODING แห่งชาติที่ รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ซึ่งดำเนินการอยู่ในลักษณะ ความร่วมมือของกระทรวงต่าง ๆ และภาคเอกชนที่ต้องการร่วมกันพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ทั้งนี้ “CODING” ตามกรอบแนวคิดของคณะกรรมการ CODING แห่งชาติ ประกอบด้วย 1. C : Creative หมายถึง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ 2. O : Organized หมายถึง การบริหารจัดการองค์การอย่างเป็นระบบ 3. D : Digital literacy หมายถึง ความสามารถด้านดิจิทัลอย่างปลอดภัย 4. I : Innovation หมายถึง การขับเคลื่อนองค์การด้วยนวัตกรรม 5. N : Newness หมายถึง การสร้างทางเลือกใหม่ ๆ และ 6. G : Growth mindset หมายถึง การมีกรอบความคิดแบบเติบโต
สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ประเด็นด้านการพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตให้มีทักษะความรู้ เป็นคนดี มีความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยเฉพาะในช่วงวัยแรงงาน ที่มุ่งเน้นการยกระดับ ศักยภาพ ทักษะ และสมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดเฉพาะ บุคคล และความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยรอย่างก้าวกระโดด ก่อให้เกิดนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และมติคณะรัฐมนตรี (19 มกราคม 2564) ที่ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดให้การพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) ก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ ในส่วนของการจ้างงานและอาชีพ ที่มีรูปแบบและลักษณะงานที่เปลี่ยนไป มีความต้องการแรงงานที่มีสมรรถนะสูง เพิ่มมากขึ้น หลายอาชีพหายไป และบางอาชีพถูกทดแทนระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้ สมรรถนะ และทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของการอาชีวศึกษา ในฐานะที่เป็นทางเลือกของการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม ตอบโจทย์โลกอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี การเรียน CODING จะช่วยเสริมทักษะให้เราสามารถทำงานในอนาคต โดยเฉพาะการทำให้คนทำงานร่วมกันกับระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) ทักษะในการเขียนโปรแกรมขั้นต้นอย่างง่ายๆ อาทิ โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียน ชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย สามารถนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และแก้ปัญหาดิน ด้วยกระบวนการ CODING โครงการเกษตรอัจฉริยะ และล่าสุด มีแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทยที่ใช้พื้นฐานของ CODING ซึ่งเรียกว่าแพลตฟอร์ม CiRA CORE ซึ่งถูกพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ” รมช.ศธ.กล่าว