ผลการประชุม คกก. ส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 1/2566

เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ที่ปรึกษา รมช.มท., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, นายเกรียงศักดิ์ สังข์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งผู้แทนในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ.4

รมช.ศธ. เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาทุกระดับทุกระบบอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่หลากหลายเหมาะสม ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และประกอบอาชีพตามความสามารถ พึ่งตัวเองได้ สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยวิถีพอเพียง และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยกำหนดให้คนพิการทุกประเภท (บกพร่องทางการเห็น บกพร่องการได้ยิน บกพร่องสติปัญญา บกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือทางสุขภาพ บกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางการพูดและภาษา บกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ ออทิสติก และบุคคลพิการซ้อน) ต้องได้รับการศึกษาและได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ เน้นการสร้างโอกาสให้ได้รับการศึกษาทั่วถึง เสมอภาค และมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาตามความพิการแต่ละประเภท พร้อมทั้งได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา

“การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในประเทศไทย มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี โดยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน อาศัยปัจจัยสำคัญทั้งเชิงนโยบาย ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร และกลไกทางกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาคนพิการให้ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อิสระ ปลอดภัย รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอบคุณผู้อำนวยการ คุณครู และบุคลากรของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกท่าน ที่เสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดูแล พัฒนา และให้ความรู้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีแก่นักเรียนทุกคน อาชีพอื่น ๆ นั้นสามารถทำตามหน้าที่ได้ แต่สำหรับอาชีพครูการศึกษาพิเศษนั้น ทำตามหน้าที่คงไม่เพียงพอ และต้องใช้ใจในการทำงานอีกด้วย และทำให้ระหว่างเรียนนักเรียนมีรายได้ ระหว่างเรียนนักเรียนมีงานทำ มีเงินเก็บ ต้องขอขอบคุณจากใจจริง” รมช.ศธ.กล่าว

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

23/2/2566

[Sassy_Social_Share]