“รมช.คุณหญิงกัลยา” ปฐมนิเทศนักศึกษาโครงการอาชีวะทวิภาคีด้านพืชศาสตร์ไทย-อิสราเอล รุ่นที่ 24
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการปฐมนิเทศและให้โอวาทนักศึกษาในโครงการอบรมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา ภายใต้โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล ประจำปี พ.ศ. 2566 รุ่นที่ 24 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ นายชาติชาย เกตุพรหม ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ผู้บริหารสถานศึกษา และนักศึกษา เข้าร่วม
รมช.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นถึงความสำคัญของสาขาเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาหลักของประเทศไทย รองรับเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ดังนั้น จึงผลักดันการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรม ให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน พร้อมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านการเกษตร ไม่เฉพาะในวงการการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องขยับออกไปสู่วงการอุตสาหกรรมในระดับกว้างด้วย
“ดิฉันรู้สึกยินดีกับนักศึกษาทุกคน ที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ ซึ่งอิสราเอล เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง หรือเรียกได้ว่าเป็น เจ้าแห่งเทคโนโลยีทะเลทราย ที่สามารถพัฒนาภาคการเกษตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร จนนำมาซึ่งเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ทั้งระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การย่อยสลายแบบไร้อากาศ ระบบการปลูกพืชในเรือนกระจก การวิจัยการเกษตรในทะเลทราย การกำจัดเกลือ เป็นต้น ทำให้อิสราเอลเป็นประเทศที่สามารถส่งออกผลผลิตหนึ่งในสามไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ในส่วนรัฐบาลไทย ก็ได้ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการสร้างความยั่งยืนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก และในช่วงของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมจากสภาวการณ์ต่าง ๆ รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเกี่ยวกับเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยอาศัยทุนความได้เปรียบของไทยในเรื่องความหลากหลายเชิงชีวภาพ ต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ขอฝากให้นักศึกษาเรียนรู้ในการปรับตัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก หรือที่เรียกว่า VUCA World โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดรับกับการเรียนรู้สู่การเติบโตในโลกยุคใหม่ ตลอดจนขอให้นักศึกษาตื่นตัวเพื่อพร้อมรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลาด้วย” รมช.ศธ.กล่าว
โครงการอบรมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา ภายใต้โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล ประจำปี พ.ศ. 2566 รุ่นที่ 24 มีนักศึกษาเข้าร่วม 78 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตร ในเขตอาราวา The Arava International Center for Agricultural Training (AICAT) สาธารณรัฐอิสราเอล
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
3/8/2566