รมช.คุณหญิงกัลยา ประชุม กกส. ดันตั้งธนาคารหน่วยกิตระดับชาติ เผยโมเดลสานพลังทุกจังหวัดร่วมจัดการศึกษา
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2565 โดยมี สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการ และเลขานุการ ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Web Conference
รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุม กกส. ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
1) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการศึกษาในระดับจังหวัด และ 2) การจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์สะสมหน่วยกิตประจำจังหวัด เพื่อเทียบโอนตามเกณฑ์และมาตรฐานแต่ละระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา
“กุญแจของการปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ความผันผวนของโลกยุคปัจจุบัน คือต้องให้ผู้เรียนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาให้ตรงกับความสนใจและตอบโจทย์บริบทในพื้นที่ รวมถึงการผ่อนคลายระบบต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษา เรียนรู้ และฝึกอบรมในสาขาที่มีความต้องการจำเป็นของตลาดแรงงานและของประเทศ” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาทั้ง 2 ประเด็น ดังนี้
1) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด ให้ตั้งทีมศึกษาข้อกฎหมายหรือจัดทำพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ที่มีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการจำเป็นของพื้นที่ และมีคณะบุคคลที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในจังหวัด โดยใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งในระดับสถานศึกษา ระดับจังหวัด และระดับชาติ
2) แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” และโดย สกศ. เป็นหน่วยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดศูนย์สะสมหน่วยกิตประจำจังหวัด ทำหน้าที่รับเรื่องและเทียบโอนตามเกณฑ์และมาตรฐานแต่ละระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา ซึ่งอาจประยุกต์การประมวลผลระบบคลาวด์ (Cloud) หรือเทคโนโลยีว่าด้วยระบบการเก็บข้อมูล (Blockchain) มาช่วยเชื่อมโยงการเก็บหน่วยกิตจากการเรียนรู้การทำงาน ให้ทุกวัยสามารถเข้ามาเรียนใหม่ได้ตลอดเวลา และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต