รมช.คุณหญิงกัลยา แถลงข่าวเตรียมจัดสัมมนานานาชาติคณิต-วิทย์ เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “การสัมมนานานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” โดยมี รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) รศ.ดร.ธีระเดช เจียสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศธ. กล่าวว่า ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รัฐบาลจึงเป็นเจ้าภาพจัดงาน เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งมูลนิธิ สอวน. กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สสวท. จึงร่วมกันจัดการสัมมนานานาชาติ ภายใต้หัวข้อ International Conference on Mathematics and Science Education in the Post COVID-19 Era: Global Issues Awareness ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมทั้งทรงปาฐกถาพิเศษ และทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ

“การสัมมนานานาชาติฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีระดมความคิดของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ไทยและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวงการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางทั่วกัน โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของนักเรียนทุกคน จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อรับฟังวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางปฏิบัติได้” รมช.ศธ. กล่าว

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สอวน. กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของการจัดงานสัมมนานานาชาติฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เพื่อให้นานาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติจึงจะเกิดทักษะแก่ผู้เรียน ยังเป็นการแสดงถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอันดีของสังคมโลกด้วย โดยภายในงานจะมีการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อที่ทันสมัยและดึงดูดความสนใจ จัดให้มีนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และการแสดงผลงานของบุคลากรทางการศึกษาที่หลากหลาย

นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับ สอวน. ในการวางแผนและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองทั้งในระดับกระทรวงและระดับภาคประชาชน ภาคเอกชน และมูลนิธิต่าง ๆ ในพระอุปถัมภ์ ในลักษณะการสัมมนานานาชาติรูปแบบ On site ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานทั้งจากในประเทศและนานาประเทศกว่า 500 คน

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การสัมมนานานาชาติครั้งนี้ จะเป็นเวทีระดมความคิดเห็นของนักการศึกษา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ที่มีผลกระทบภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. Talented Students ปัญหาของกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ 2. Inclusive Education ปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้การกระจายตัวของการศึกษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคระบาดโควิด 19 และ 3. Digital Transformation การปิดสถานศึกษาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเรียนการสอนในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผอ.สสวท. กล่าวว่า การจัดงานตลอด 3 วัน ได้จัดการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อที่ทันสมัยและดึงดูดความสนใจ จาการประสบการณ์ของนักวิชาการชั้นนำและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ การบรรยายงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล การเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติและการแสดงผลงานของบุคลากรทางการศึกษาที่หลากหลาย

สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟิก

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

28/4/2566

[Sassy_Social_Share]