รมช.สุรศักดิ์ ลงพื้นที่ติดตามการทำงานด้านการศึกษาของรัฐบาล-ศธ. ก่อน ครม.สัญจรที่เพชรบุรี

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2567) เวลาประมาณ 9.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี เป็นจุดแรก พร้อมทั้งรับฟังการรายงานผลกสรจัดการศึกษาในภาพรวม โดยศึกษาธิการจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลัก หน่วยงานในกำกับ ศธ. ผู้บริหารจังหวัด ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม

โดย รมช.ศธ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการเรียนการสอนของวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี เป็นโครงการฯ ที่เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี 1 ปี จบแล้วมีงานทำ, หลักสูตรระยะสั้น การผลิตภัณฑ์พวงกุญแจ ราชินีไม้น้ำ วิทยาลัยการอาชีพเขาย้อย, ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงาน สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาช่างสีรถยนด์ ระดับ 1 วิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน, ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา Klaikangwon II café and bistro วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล 2, รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี และนวัตกรรมการทำขนมหม้อไฟ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเพชรบุรี
จากนั้น รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณ ศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้รายงานข้อมูล พร้อมนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขตามบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ ศธ.ยุคใหม่ เป็นยุคที่รับฟังมากขึ้น และพร้อมที่จะหาทางแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถ อะไรที่ทำได้ เราจะทำ โดยการนำของ รมว.ศธ. ได้ผลักดันโครงการดี ๆ ในหลายมิติ ทั้งการยกเลิกครูเวร อาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาส นักการภารโรง การปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู โครงการครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ การพัฒนาเนื้อหาทุกวิชา ทุกสาขาวิชา ทุกระดับชั้น ทั้งสายสามัญและวิชาชีพ เพื่อรองรับแพลตฟอร์ม เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ในปี 2568 และสิ่งที่จะทำต่อไปคือ การจัดอาหารมื้อเช้าให้กับนักเรียน
จากการรับฟังรายงาน ต้องขอชื่นชมที่มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดภาระครู ผู้ปกครอง และนักเรียน และที่ผ่านมา รมว.ศธ. ผม และผู้บริหาร ได้รับความร่วมมือในการปรับตัว ปรับวิธีคิดและวิธีทำงานร่วมกัน เป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนให้การทำงานด้านศึกษาก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ในหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น การปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน การจัดจ้างนักการภารโรง ให้ทันเปิดภาคเรียน การปรับปรุงห้องน้ำ “สุขาดี มีความสุข” ตามแนวทาง 5 ด้าน ได้แก่ สะอาด (แห้ง หอม) สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม เป็นต้น
ขอให้เรามาร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงานจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน เพื่อผลักดันนโยบายการศึกษา ตามแนวคิดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต และผมขอเป็นกำลังใจให้กับท่านผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง

จักรภพ เผ่าเพ็ง, ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

13/5/2567

[Sassy_Social_Share]