รมว.ตรีนุช ชูสระแก้วโมเดล เป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยนำแอคทีฟเลิร์นนิ่งสร้างคุณลักษณะ-ทักษะในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ซอฟต์ พาวเวอร์ ตามบริบทท้องถิ่น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดมหกรรมวิชาการ “เด็กสระแก้วก้าวล้ำวิชาการ สืบสานท้องถิ่น ศาสตร์ศิลป์ในศตวรรษที่ 21” เมื่อวานนี้ (วันที่ 18 กันยายน 2565) ณ หอประชุมรวมใจภักดิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 จังหวัดสระแก้ว
รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ตามโครงการสร้างโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งจังหวัดสระแก้ว ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำเป็น “สระแก้วโมเดล” เพื่อใช้เป็นต้นแบบระดับประเทศ ในการหารูปแบบและแนวทางที่จะจัดระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในทุกมิติ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อปลายทางของผลลัพธ์การยกระดับคุณภาพการศึกษา คือเด็กนักเรียนจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการตามมาตรฐานแต่ละช่วงชั้น นำจุดแข็งของบริบทในพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อสร้างคุณลักษณะและทักษะพื้นฐาน ที่เด็กสระแก้วควรจะมีอย่างน้อย คือ 1 ทักษะอาชีพความถนัด 1 ดนตรี 1 กีฬา 1 ทักษะภาษาต่างประเทศ 1 กิจกรรมจิตอาสา และ 1 บัญชีเงินออม
“การจัดงานในวันนี้ จึงนับว่าเป็นรูปธรรมความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ด้วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาการร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งในช่วงปี 2564-2565 ได้ทำการสำรวจตัวตน เพื่อหาความเหมาะสมในการจัดการศึกษาครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนทุกกลุ่มของจังหวัดสระแก้ว ทั้งกลุ่มผู้เรียนทั่วไป ด้อยโอกาส ผู้พิการ และมีความสามารถพิเศษ ในทุกระดับตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา เชื่อมโยงระดับอาชีวศึกษาและส่งต่อระดับอุดมศึกษา พร้อมกับกำหนดเป้าหมายพัฒนาการศึกษา ให้นักเรียนทุกคน ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ มีคุณภาพ มีความสุข ทุกที่ทุกเวลา พร้อม ๆ กับสร้างความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนและประชาชน และกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยใช้ “พื้นที่เป็นฐาน” สอดคล้องบริบทความต้องการของเขตพื้นที่การศึกษา
ขณะเดียวกัน ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ได้เน้นแนวทาง “ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” โดยออกแบบการเรียนรู้แบบ Personalized Learning สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้รูปแบบ Active Learning สร้างทักษะการตั้งคำถาม การฝึกให้ลงมือปฏิบัติ เสริมสร้างประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแบ่งปัน พร้อม ๆ กับเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิและหน้าที่ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การนำสิ่งที่ดีในท้องถิ่น ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติด้านภูมิปัญญาของคนไทย รวมถึงบุคคลผู้เป็นปราชญ์ในพื้นที่ มาบูรณาการในหลักสูตรการเรียนการสอน พัฒนาและต่อยอดเป็น Soft Power ให้กับชุมชนและประเทศ รวมถึงการจัดเวทีให้นักเรียนได้มีโอกาสนำเสนอความรู้ความสามารถ เพื่อแสดงถึงพลังของวัฒนธรรมไทย และสังคมไทยที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งคาดหวังว่า ความก้าวหน้าของ “สระแก้วโมเดล” จะสามารถนำความสำเร็จมาถอดเป็นบทเรียนในการส่งต่อ เพื่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา จะได้รับการขยายและต่อยอดสู่ระดับประเทศ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของประเทศ” รมว.ศธ. กล่าว
[Sassy_Social_Share]