“รมว.ตรีนุช” เดินหน้าแก้หนี้ครูภาคตะวันออก ตั้งเป้า 4,252 ล้านบาท มั่นใจลดหนี้ครูไทยได้จริง

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยตั้งเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้สินครู 8 จังหวัดภาคตะวันออก กว่า 4,252 ล้านบาท ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงศึกษาธิการที่มีบทบาทในการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยกลไกเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหาลดหนี้สิน และการให้ความรู้ทางด้านวินัยการเงินและการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับครูไทยได้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยได้ดำเนินการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลาง เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 และขยายผลสู่ทั่วประเทศด้วยงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งได้จัดขึ้นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับกลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครูแบบพุ่งเป้าที่กลุ่มลูกหนี้วิกฤติได้กว่า 784,661,570.43 บาท

สำหรับการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย สำหรับครูไทยภาคตะวันออกในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,000 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,252 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 205 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 173.4 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มที่ เช่น การเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ การตั้งสถานีแก้หนี้ครูที่เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤติมีจำนวนไม่มาก การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการจัดการปัญหาหนี้ในเชิงรุก ที่จะช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินสำหรับครูมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า การดำเนินการนี้จะช่วยลดหนี้ให้ครูไทยที่มีปัญหามานานได้จริง เพื่อให้ครูไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ทางการเงินที่ดี และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย ให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ (ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี) ปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน (กลุ่มวิกฤติและกลุ่มทั่วไป) เพื่อให้มีเงินเดือนเหลือหลังหักชำระหนี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และควบคุมยอดหนี้ใหม่ ทั้งนี้ พันธมิตรสถาบันการเงิน มอบสิทธิพิเศษมากมาย เช่น พิจารณายกเว้นดอกเบี้ยกรณีปิดบัญชี ขยายเวลาผ่อนชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ยกเว้นดอกเบี้ยสำหรับการผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข แบ่งชำระเงินต้นคงเหลือกรณีปลดภาระหนี้ค้ำประกัน ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ ยกเว้นค่าใช้จ่ายอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการวางแผนและให้คำปรึกษาการออม การกู้ยืม และการลงทุน รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน และสำหรับครูทั่วไป เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ในอนาคต

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

13/3/2566

[Sassy_Social_Share]