“รมว.ศธ. ตรีนุช” ร่วมมือ AIS และ สาธารณสุข มหาดไทย พร้อม ม.พระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัวหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เรียนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับเด็กและเยาวชนไทย

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย ในยุคที่โลกมีความเปลี่ยนแปลง การเผชิญกับโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ศธ.เป็นห่วงและให้ความสำคัญ กับปัญหาภัยไซเบอร์และพร้อมสนับสนุนการเลือกใช้สื่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการศึกษาไทย ที่จะทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหลักสูตรดังกล่าวผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอนได้ สามารถนำผลการนับชั่วโมงการพัฒนาเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีสถานศึกษาทั่วประเทศนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนกับนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อทำให้ครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองมีความรู้ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช. กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ความมั่นคงภายใน และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทยแล้ว วันนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งในนั้นคือการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ผ่านการมีทักษะรับมือกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลได้อย่างดี เราจึงสนับสนุนให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 700,000 คน ได้เรียนรู้ในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนด้านต่าง ๆเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นการทำงานร่วมกับเอไอเอส พัฒนา หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการ กระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิต รับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ นับได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ โดยเราได้ทำการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ให้ออกมาอยู่ในสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงยังการจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ AIS ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น แต่เราตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 เราจึงเปิดตัว โครงการ อุ่นใจไซเบอร์ เพื่อเป็นแกนกลาง สร้างเครือข่าย ชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา ในลักษณะขององค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ AIS ยังคงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ สร้างสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในชื่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมี กรมสุขภาพจิต พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับ มจธ. ที่ออกแบบให้อยู่ในลักษณะของกราฟิกหรือแอนิเมชัน และมีกระทรวงศึกษาธิการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดเช่นกัน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ทำการทดลองและทดสอบเสมือนจริงใน Sandbox มีคุณครูและนักเรียนเข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน
ในช่วงท้ายมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” โดย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. และนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS
[Sassy_Social_Share]