รมว.ศธ. ย้ำการสอน “ประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ” แบบทันสมัย ต่อยอด Soft Power แก่อนาคตของชาติ
เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม “การสอนประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21” ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ the SEAMEO Regional Centre in Archaeology and Fine Arts (SPAFA) ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กรุงเทพฯ โดยมี ดร.นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อํานวยการศูนย์มานษุยวิทยาสิรินธร นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อํานวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ SPAFA นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม คณะวิทยากร และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ แลกเปลี่ยนแนวทางการสอนประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่21 เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจ และประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนมาได้ ซึ่งจะมีการบรรยายและเสวนาภายใต้หัวข้อทางประวัติศาสตร์ จากวิทยากรผู้มากประสบการณ์
รมว.ศธ.กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการ การสอนประวัติศาสตร์สําหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้วิทยากรผู้มากความสามารถ มาถ่ายทอดประสบการณ์ แก่คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายและจุดเน้นการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ โดยให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความทันสมัยและ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสําคัญต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งได้เน้นย้ำว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ต้องไม่เป็นการเรียนแบบท่องจํา แต่ต้องส่งเสริมการคิดวิเคราะห์เพื่อทําความเข้าใจกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ โดยต้องให้ความสําคัญทั้งประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของประเทศ สามารถต่อยอดเป็น Soft Power ในแง่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติ นำมาซึ่งคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อีกมากมาย อาทิ ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้อุทิศเวลาให้กับการลงพื้นที่ เพื่อศึกษาสังคมชนบทไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ ในช่วง ปี พ.ศ. 2506 – 2511 ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่มีคุณูปการต่อวิชาไทยศึกษา สร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชนบทไทย
“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ เกิดขึ้นได้จากการบูรณาการความร่วมมือที่เข้มแข็งของเครือข่ายวิชาการ ในปี 2566 นี้ จะเป็นปีแห่งการก้าวไปข้างหน้าร่วมกันของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์มิติใหม่ ด้วยการส่งเสริมผู้เรียนให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีความหมายกับชีวิต เน้นทักษะกระบวนการคิด ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย นอกเหนือจากในตำราเรียน พัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ครูผู้สอนเป็นหัวใจและกลไกสําคัญ ซึ่งต้องเป็นผู้เปิดกว้างทางความคิดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดความสําเร็จ และลดข้อผิดพลาดในอนาคต” รมว.ศธ. กล่าวในตอนท้าย
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว : ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : สรุป/กราฟิก
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน
18/1/2566