รมว.ศธ. แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการสูญเสียครู มอบ สพฐ. เร่งทบทวนงานโรงเรียนเชิงระบบ เพื่อป้องกันเหตุ

วันนี้ (17 มิถุนายน 2568) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 22/2568 โดยนำข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีการเสียชีวิตของครูผู้รับผิดชอบงานด้านการเงินและพัสดุของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ว่า รมว.ศธ. ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมเน้นย้ำให้ สพฐ. เร่งหามาตรการเชิงระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ซ้ำอีก ทั้งนี้ จากข้อความในจดหมายลา พบว่า ภาระงานเอกสารที่มีความซับซ้อน อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความกดดัน โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 60 คน และมีบุคลากรจำกัด

“ที่ผ่านมา สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าไปสนับสนุนด้านงานจัดซื้อ การเงิน และพัสดุ แต่ในบางพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนอาจเลือกดำเนินการเองเพื่อความรวดเร็ว ส่งผลให้ภาระตกอยู่กับครูเพียงไม่กี่คน

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีก สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักการคลังและสินทรัพย์ ร่วมกับหน่วยตรวจสอบภายใน ทบทวนคู่มือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเน้นการวิเคราะห์จุดเสี่ยง ปรับปรุงขั้นตอนลดความซ้ำซ้อน และออกแบบระบบใหม่ให้เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ พร้อมนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บริหารจัดการงานธุรการมากขึ้น เพื่อลดภาระงานเอกสาร และให้ครูสามารถทุ่มเทกับ “การสอน” อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและสามารถแก้ไขปัญหาในเชิงระบบอย่างตรงจุด โดยให้รายงานผลภายใน 7 วัน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการ กพฐ. ยังได้เน้นย้ำถึงการดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่กำลังมีข้อพิพาท ทั้ง 7 จังหวัด โดยมอบหมายให้ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ลงพื้นที่จริงเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง การจัดทำหลุมหลบภัยหรือบังเกอร์ที่มั่นคงแข็งแรง พร้อมกำชับให้โรงเรียนซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและเส้นทางอพยพอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมเต็มที่ 100% ในการดูแลความปลอดภัยของครูและนักเรียนในทุกพื้นที่ แม้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณข้อมูล : สพฐ.

นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง/กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน

[Sassy_Social_Share]