“รองนายกฯ วิษณุ” ชมคุณหญิงกัลยา สร้างผลงาน 4 ปี เป็นที่ประจักษ์ ผลงานเด่นดัน CODING เป็นวาระแห่งชาติช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING” พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการสภาการศึกษา, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารหน่วยงานในกำกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของคุณหญิงกัลยาตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยมีนางสาวพุทธชาด ศรีนิศากร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรม ชั้น G Avenue Zone A (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามการทำงานของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอดตั้งแต่ปีแรกที่คุณหญิงกัลยารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ ได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคุณหญิงในการทำงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านการศึกษาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง จนมีผลงานปรากฏเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนโยบาย CODING ที่คุณหญิงกัลยาเป็นผู้นำให้เป็นนโยบายของรัฐบาล และแถลงต่อรัฐสภา ผลักดันให้ CODING เป็นวาระแห่งชาติ จนประสบความสำเร็จ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทยและคนไทยทุกคนให้สามารถเผชิญหน้าและอยู่กับโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่ตนเองมาดำรงตำแหน่งได้ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบและความท้าทายในการทำหน้าที่ และทราบดีว่านี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ของคนไทยรุ่นเราที่ต้องสร้างเด็กไทยและคนไทยให้มีความพร้อม มีภูมิคุ้มกัน ในการดำรงชีวิตภายใต้ยุคดิจิทัล ที่มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ ซึ่งเรียกรวมกันสั้น ๆ ว่า VUCA WORLD โดยได้ขับเคลื่อนนโยบาย และโครงการสำคัญเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาโลก ที่จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ การขับเคลื่อนนโยบาย CODING ซึ่งไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นการเรียนการสอน CODING ไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่จะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “CODING FOR ALL” การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน ซึ่งได้ขยายโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง รวมไปถึงโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต เป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ CODING มาประยุกต์กับด้านการเกษตรให้เกิดผลผลิตในเชิงพาณิชย์ภายใต้พื้นที่ที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้น หลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562 และการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 โดยผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อเยาวชนไทย หรือคนไทยมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลแล้วก็จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างแน่นอน
“งานการศึกษาเปรียบเสมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ต้องใช้เวลา เสียสละ และมีความตั้งใจ ดิฉันจึงอยากขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้สนับสนุนการทำงานของดิฉันตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมาทั้งท่านผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ คณะที่ปรึกษาฯ คณะทำงาน ข้าราชการ รวมถึงสื่อมวลชนที่ได้ร่วมถ่ายทอดนโยบายไปยังสาธารณชน ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนเพื่อนำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไขระหว่างทางเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อทั้งตัวผู้เรียน ครูผู้สอน และผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน” คุณหญิงกัลยา กล่าว
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟฟิก
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
25/2/2566