ศธ.จับมือยูนิเซฟ ประชุมผู้บริหารระดับสูงพัฒนาแผนแม่บทเทคโนโลยี สร้างโอกาสเด็กไทยเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สอดรับเป้าหมายเอสดีจีที่ 4 ของสหประชาชาติ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อการศึกษา Master ICT in Education Plan และการทบทวนเชิงเทคนิค National Digital Learning Platforms (ภาคการศึกษา) จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยมี คุณคยอง ซันคิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ และ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ตลอดจนผู้บริหารจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารและนักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากรขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เข้าร่วม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตพญาไท กรุงเทพฯ

รมช.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า จากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” และ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) เป็นการแสดงให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยได้นำ ICT เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และพร้อมเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ผ่านแหล่งเรียนรู้ แพลตฟอร์ม และช่องทางที่หลากหลาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อศึกษาและทบทวนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อม ๆ กับการสร้างความเข้าใจร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา (Master ICT Plan in Education) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมวิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้ ตลอดจนสภาวะแวดล้อมและความเป็นไปได้ของการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนจะนำไปใช้พลิกโฉมทางดิจิทัลเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ขอเน้นย้ำว่า นอกจากผู้เรียนจะเข้าถึงการศึกษาที่ทั่วถึงและมีคุณภาพแล้ว จะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียนรู้ และอยู่ในบริบทที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญในการนำภารกิจไปสู่ผู้เรียน และขอแสดงความขอบคุณ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่ได้สนับสนุนเรื่องการพัฒนาการศึกษาของไทย รวมทั้งเอ็ดเทค ฮับ (EdTech Hub) และคุณเวอร์นา ลาบิฮารี ที่มาบรรยายข้อคิดเห็นและจุดประกายการทำงานด้านดิจิทัลการศึกษาจากประสบการณ์ระดับนานาชาติ

ท้ายสุด ขอให้ทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปประกอบการตัดสินใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทุกคนในประเทศไทยต่อไป” รมช.ศธ.กล่าว

ศิจิตรา ทรงเจริญ, นวรัตน์ รามสูต: สรุป

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

9/11/2566

[Sassy_Social_Share]