สรุปผลการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าร่วมเพื่อนำเสนอภาพความสำเร็จผลการดำเนินงานขับเคลื่อนตามจุดเน้นและนโยบายหลักด้านการศึกษาของ ศธ.
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ภายใต้นโยบายและจุดเน้น 6 นโยบาย ท่ามกลางความท้าทายการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อดูแลจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญ สายอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้พัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพื่อไปพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู ปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของครู รวมทั้งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา สร้างคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเห็นถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนงานของทุกหน่วยงาน จึงขอให้ขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตามงานทุกเรื่องเป็นระยะเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้างานด้านการศึกษาออกสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียน ครูและผู้ปกครองต่อไป
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ว่า สป.ได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดตั้งอาสาสมัครผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) เพื่อมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการถดถอยทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีผู้สมัครแล้วจำนวน 43,885 คน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการจัดทำแผนและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ใน 4 ภูมิภาค ภายใต้ 7 มาตรการช่วยเหลือ คือ 1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 0.05-1.0 โดยมีครูได้รับประโยชน์ 463,072 ราย ช่วยลดภาระหนี้สิน 2,256 ล้านบาท 2. ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ 3. ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย 4. จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ 558 สถานี เพื่อเป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ แก่ครูที่ลงทะเบียนฯ 41,128 ราย 5. ปรับโครงสร้างหนี้ 6. ใช้ ช.พ.ค.เป็นหลักประกันเงินกู้ และ 7. การติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่ายินดี ที่องค์การยูเนสโกได้เสนอการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (วันที่ 6 พฤษภาคม 2566) ซึ่งพระองค์ได้รับรางวัลประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ปี 2565-2566) ศธ. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ ของยูเนสโก จึงได้ดำเนินการจัดการแสดงดนตรีและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเพื่อเฉลิมฉลอง ณ กรุงปารีส และเมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและทอดพระเนตรกิจกรรม และ ศธ. ได้เสนอองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2570 ด้วยพระองค์ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร
ทั้งนี้ องค์การยูนิเซฟ ยังได้แสดงความชื่นชม รมว.ศธ. และกระทรวงศึกษาธิการไทย ที่ได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการจัดการดูแลการศึกษาเด็กปฐมวัย พร้อมทั้งเข้าร่วมการรับรองปฏิญญาทาชเคนต์ (Tashkent Declaration) และเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติ เพื่อการพลิกโฉมการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย (Commitments to Action for Transforming Early Childhood Care and Education) ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4.2 และการเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการศึกษาก่อนระดับประถมศึกษาอย่างมีคุณภาพของเด็กปฐมวัยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กด้อยโอกาส
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. รับผิดชอบดูแลการศึกษาให้กับเด็ก ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 มิติ ได้แก่ มิติความปลอดภัย จะทำให้ทุกโรงเรียนมีความปลอดภัย และเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ในโครงการสถานศึกษาปลอดภัย เป็นต้น มิติทางด้านโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในโครงการพาน้องกลับมาเรียน การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อพัฒนาการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ มิติคุณภาพ ด้วยการเรียนการสอนแบบ Active Learning พร้อมจัดทำคู่มือเป็นแนวปฏิบัติแก่โรงเรียน พร้อมส่งเสริมการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาการเรียนรู้ และวิชาประวัติศาสตร์ในทุกกลุ่มสาระวิชา และมิติประสิทธิภาพ โดยขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพ โครงการ Connext ED และโครงการร่วมพัฒนา
ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ สอศ. กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ สามารถนำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 3,480 คนกลับเข้ามาเรียนในสถานศึกษา 88 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ กศน. เพื่อสนับสนุนการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน พร้อมร่วมมือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตร สภาการท่องเที่ยว สภาดิจิทัล กระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ ร่วมกับจัดการศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง และพัฒนาหลักสูตรใหม่ร่วมกัน อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กกศ. กล่าวว่า ได้เน้นการจัดทำนโยบายเชิงวิชาการด้านการศึกษา มีการสรรหาคณะกรรมการสภาการศึกษา หารือจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ และมีแผนการยกระดับการแข่งขันการศึกษาไทยในเวทีโลก มีการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ปี 2564 – 2570 อีกทั้งยังได้จัดทำข้อมูลของเด็กปฐมวัยให้อยู่ในส่วนกลาง มีการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF)
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. กล่าวว่าสำนักงาน กศน. ขับเคลื่อนนโยบาย สูงวัย ใจสมาร์ท เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้สูงวัย โครงการพาน้องกลับมาเรียน ได้ส่งยอดนักเรียนที่หลุดออกจากระบบให้ศูนย์ประสานงานเพื่อลงพื้นที่ พาน้องกลับมาเรียนต่อไป มีการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ ภายใต้โครงการ กศน.เพื่อคนพิการ และมี กศน. White Zone ซึ่งอยู่ภายใต้ ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงาน กศน. จัดทำแนวทางเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้สถานศึกษา ทั้งนี้ ยังมีการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยได้จัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ขึ้น
นายประพัทธ์ รัตนอรุน รองเลขาธิการ กช. กล่าวว่า สช. มีผลการดำเนินงานที่สำตัญ คือการจัดการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมมีการนิเทศติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย พร้อมจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาปอเนาะ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ยังมีการอุดหนุนอาหารกลางวัน แก่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในปีงบประมาณ 2566-2570 และปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนเอกชนตามขนาดของโรงเรียน และโรงเรียนสำหรับผู้พิการ
รองศาตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. รายงานความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานของ สำนักงาน ก.ค.ศ. โดยมีการสร้างขวัญกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา สร้างกลไกการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก จัดตั้งโครงการ Back to School ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วางระบบการประเมินครูโดยระบบ PA อีกทั้งยังปรับปรุงเป็นระบบ DPA มีการสร้างระบบมาตรฐานจริยธรรม และปรับระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ในการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา และอาจารย์ทางวิชากาาในสถาบันอาชีวศึกษา ทั้งนี้ยังมีการแก้ไขปัญหาอัตรากำลังครูในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเกลี่ยอัตราครูที่เกินในโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นผู้อำนวยการในโรงเรียนขนาดเล็ก
สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
30/3/2566