เสมา 2 ย้ำผู้บริหารนครศรีฯ นำนโยบาย เรียนดี มีความสุข สู่แอคชั่นแพลนขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อสร้างการศึกษาดี มีความสุข
เสมา 2 ย้ำผู้บริหารนครศรีฯ นำนโยบาย เรียนดี มีความสุข สู่แอคชั่นแพลนขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อสร้างการศึกษาดี มีความสุข
วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมผู้บริหารขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังพิธีเปิดอาคารเรียนของโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้มีความมุ่งมั่น สานต่อนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ โดยสานต่อนโยบายเดิม และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มเติมนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง ทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ภายใต้เป้าหมายมุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อม ๆ กับการเพิ่มเครือข่ายทางการศึกษา เพื่อเพิ่มการทำงานแบบมีส่วนร่วม สร้างภาคีเครือข่าย โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน มีการทำงานเป็นทีม สร้างบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข และสร้างองค์กรแห่งวัฒนธรรม ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษาและสถาบันทางการศึกษาภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม
โดย ศธ. ได้ประกาศนโยบายการศึกษาเพื่อลดภาระต่าง ๆ เพื่อสร้างความสุขแก่นักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง ดังนี้
– ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการพัฒนาและต่อยอดวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา, ย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น, การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ, จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ ให้เพียงพอและเหมาะสม, การยกเลิกครูเวร ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน คืนเวลาให้ครู, จัดหานักการภารโรง ช่วยลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา
– ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย, ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Drop out), จัดให้มีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อย 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ, พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching), มีระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และมีระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา, การประเมินผลการศึกษาผ่านธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank), พัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn), จัดให้มีอาหารสำหรับนักเรียน เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ, ส่งเสริมให้มีกระบวนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน สร้างโอกาสให้คนทุกช่วงวัย เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ, การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และทักษะอาชีพที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสุข
“ขอให้ส่วนราชการนำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่การจัดทำ Action Plan ให้สอดคล้องกับนโยบายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งฝากถึงผู้บริหารสถานศึกษาในด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้มีการสอดส่องและเฝ้าระวังอันตรายในสถานศึกษา พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครอง หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด ตลอดจนการยกระดับคุณภาพการศึกษา การประเมิน PISA 2025 ซึ่งจะเน้นการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ และเพิ่มเติมด้านการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลด้วย ในส่วนการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่านร่วมดำเนินการ เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด และท้ายสุด โครงการสุขาดี มีความสุข ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพ อนามัยและความปลอดภัย ตามเกณฑ์มาตรฐานห้องน้ำสถานศึกษาสะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” รมช.ศธ.กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
21/11/2567