เสมา 2 แถลงผล PISA 2022 เร่งการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมในการประเมินปี 2025
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าวผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศธ. กล่าวว่า โปรแกรมประเมินสมรรถะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และจะนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป โดยจะมีการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี และทำการประเมินทุก 3 ปี เน้นการประเมินใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในปี 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินกว่า 690,000 คน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย สสวท. มีหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ในการดำเนินการจัดสอบ ซึ่งมีนักเรียนไทย จำนวน 8,495 คน จาก 279 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้ารับการประเมิน
“จากการรายงานผลคะแนน PISA ประจำปี 2022 พบว่า ผลการประเมินนักเรียนไทย มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการยกระดับผลการประเมิน PISA ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วย สสวท. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการสอบ PISA ในปี 2025 เชิงรุก โดยคณะทำงานมีหน้าที่จัดทำแนวทางพัฒนาผู้เรียน เน้นฝึกทักษะการอ่านและคิดวิเคราะห์ โดยจะนำข้อสอบเก่ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อม ๆ กับการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ตามนโยบายเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายให้กลุ่มนักเรียนได้คะแนนในรอบถัดไปสูงกว่าปี 2018” รมช.ศธ. กล่าว
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : สรุป/กราฟฟิก
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
6/12/2566